เพลงไทยสากล

 

สวลี ผกาพันธุ์ หรือชื่อจริงคือ เชอร์รี่ เศวตนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม เมื่อปี พ.ศ. 2490 จากนั้นได้เรียนต่อเพิ่มเติมทางด้านชวเลข และพิมพ์ดีด เมื่อเรียนจบแล้ว ก็ได้เข้าทำงานเป็นเสมียนพิมพ์ดีดอยู่ที่เทศบาลนครกรุงเทพ และบริษัทสหไทยวัฒนา

ความสนใจทางด้านการขับร้องและดนตรีของคุณสวลีนั้นเริ่มมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และด้วยความที่เป็นผู้มีน้ำเสียงดี จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการร้องเพลงชาติทุกวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ขณะที่อายุได้ 17 ปี และกำลังทำงานอยู่ที่บริษัทสหไทยวัฒนานั้น คุณมยุรี จันทร์เรือง ซึ่งเป็นครูสอนวิชาขับร้องอยู่ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้ชวนไปชมการฝึกซ้อมละครของคณะผกาวลี ซึ่งเป็นคณะละครของญาติท่าน ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับ ครูลัดดา สารตายน (ศิลปะบรรเลง) ซึ่งเป็นผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดงละครของคณะนั้น ครูมยุรีได้เล่าให้ครูลัดดาฟังว่าคุณสวลีสามารถร้องเพลงได้ดี ซึ่งครูลัดดาก็เกิดความสนใจ จึงลองให้คุณสวลีร้องเพลงเพื่อทดสอบเสียงดู โดยให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน ปรากฏว่าคุณสวลีได้แสดงความสามารถเป็นที่พอใจของครูลัดดา ครูลัดดาจึงได้ชักชวนให้มาร้องเพลงสลับฉากละครในตอนเย็นหลังเลิกงาน โดยเพลงที่คุณสวลีขึ้นเวทีร้องเป็นเพลงแรกในชีวิตมีชื่อว่าเพลง หวานรื่นผลงานเพลงของครูประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง โดยร้องคู่กับคุณวลิต สนธิรัตน์ ในวันนั้น นอกจากจะเป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องแล้ว ยังเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ เป็นวันที่ครูลัดดาได้ตั้งชื่อให้ท่านใช้ในการแสดงว่า สวลี อีกด้วย (ส่วนนามสกุล ผกาพันธุ์นั้น คุณสด กูรมะโรหิต เป็นผู้ตั้งให้ในเวลาต่อมา) จากนั้นมา คุณสวลีก็ได้มีโอกาสร้องเพลงสลับฉากเพิ่มขึ้น และยังได้เริ่มแสดงเป็นตัวประกอบในละครของคณะผกาวลีโดยมีบทพูดเล็กๆ น้อยๆ และร้องเพลงในเรื่องด้วย

เมื่องานการขับร้องเพลงและการแสดงละครมีมากขึ้น คุณสวลีจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำงานด้านการบันเทิงอย่างเต็มตัว และไม่นานต่อมา ท่านก็ได้รับบทนางเอกเป็นครั้งแรกในการแสดงละครเรื่อง ความพยาบาททำให้นาม สวลี ผกาพันธุ์ นี้ เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป จากนั้นมา ท่านก็ได้แสดงเป็นนางเอกละครอีกหลายเรื่องจนคณะผกาวลีเลิกกิจการลง จึงได้ย้ายไปแสดงอยู่กับคณะอัศวินการละคร โดยเริ่มงานด้วยการแสดงเป็นนางเอกเรื่อง มโนราห์ซึ่งมี คุณสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นพระเอก และยังได้แสดงละครเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ละครเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือเรื่อง บ้านทรายทองบทประพันธ์อมตะตลอดกาลของ ก.สุรางคนางค์ที่ต่อมาได้มีผู้นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดยคุณสวลีนับเป็นผู้ที่ได้รับบทเป็น พจมานคนแรก ในครั้งนั้น คุณสวลีได้ร้องเพลง หากรู้สักนิดผลงานการประพันธ์ของหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ จนเป็นเพลงที่โด่งดัง และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากการแสดงกับคณะอัศวินการละครแล้ว คุณสวลียังได้ร่วมแสดงกับคณะเทพศิลป์ และคณะศิวารมย์เป็นครั้งคราวอีกด้วย

หลังจากที่ได้แสดงละครกับคณะละครต่างๆ มาแล้วหลายคณะ คุณสวลีจึงได้ร่วมกับ อดีศักดิ์ เศวตนันทน์ ผู้เป็นสามี ตั้งคณะละครชื่อ ชื่นชุมนุมศิลปินขึ้นซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอันดี จนกระทั่งถึงยุคที่ละครเวทีซบเซาลงโดยมีภาพยนตร์เข้ามาแทนที่ ท่านจึงยุติการแสดงละครเวทีไปโดยปริยาย ต่อมา ส.อาสนจินดา ได้เริ่มสร้างภาพยนตร์ขึ้น โดยชักชวนสมัครพรรคพวกที่เคยร่วมงานละครเวทีกันมาก่อนรวมทั้งคุณสวลีด้วย มาแสดงภาพยนตร์ของท่าน ซึ่งคุณสวลีก็ได้รับบทเป็นนางเอกอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ได้มีโอกาสพากย์ภาพยนตร์ด้วย และเมื่อว่างจากงานแสดงและงานพากย์ ท่านก็ได้เริ่มร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง ผลงานการร้องเพลงที่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในยุคนั้นของท่านได้แก่เพลงลมหวน โรครัก หน้าชื่นอกตรม และ รักมีกรรม เป็นต้น

ครั้นเมื่อมีการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม อันเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 คณะชื่นชุมนุมศิลปินก็ได้เข้ามาจัดรายการโทรทัศน์เป็นคณะแรก โดยเริ่มต้นด้วยการจัดรายการเพลง โดยมี ครูสมาน กาญจนผลิน เป็นผู้ควบคุมวง และมีนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, นริศ อารีย์, พูลศรี เจริญพงษ์, อดิเรก จันทร์เรือง รวมทั้งสวลี ผกาพันธุ์ มาร่วมรายการด้วย และเมื่อคณะชื่นชุมนุมศิลปินเริ่มสร้างละครโทรทัศน์ขึ้น คุณสวลีก็ได้เป็นกำลังสำคัญท่านหนึ่งที่ได้ทำให้ละครโทรทัศน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้พากย์ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เป็นคนแรกคือเรื่องแลสซี่อีกด้วย ในขณะเดียวกันสวลีก็ยังมีงานขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงควบคู่ไปด้วย โดยมีทั้งเพลงที่ร้องเดี่ยว และร้องคู่ โดยเพลงที่ร้องคู่ส่วนใหญ่จะร้องคู่กับ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นหลัก ส่วนที่ร้องกับคนอื่นๆ ก็มี เช่น ชรินทร์ นันทนาคร, นริศ อารีย์, ชาญ เย็นแข และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นต้น

ด้วยประสบการณ์ในการทำงานอันหลากหลายของสวลี ผกาพันธุ์ ที่มีมากมายหลายด้าน และผลงานในวงการบันเทิงแต่ละด้านก็ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างสูงโดยทั่วไป ด้วยความที่เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จถึงขีดสุดจนเป็นหนึ่งในทำเนียบแห่งศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งของประเทศไทย

 

 

ชุดที่ 2 

 กลับเพลงไทยในอดีต 

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola