เพลงไทยสากล

เอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" ครูเอื้อมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

     * หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    * นางปาน แสงอนันต์

    * นายเอื้อ สุนทรสนาน

 ครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท เอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง จึงเลือกเรียนดนตรีฝรั่งกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต โดยมีอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

 หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีก อย่างหนึ่งด้วย ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป

2 ปีต่อมา ความสามารถของเอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา

 นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว เอื้อยัง มีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง "ยอดตองต้องลม" ขึ้น นับเป็นเพลงในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ เอื้อ สุนทรสนาน ให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติ ให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง เอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย

ในปี พ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อว่า บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "ถ่านไฟเก่า" เอื้อมีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย

 จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง เอื้อ สุนทรสนาน จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย

 จากนั้นอีก 1 ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร

 และนี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8

เอื้อ สุนทรสนาน ได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็น ผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของ ราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์

 เอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ เอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516

 ถึงแม้เอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่เอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ วันที่เอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

พูดถึงครูเอื้อ

เอื้อ สุนทรสนาน โดย....เวส สุนทรจามร
โดย..เวส สุนทรจามร
แหล่งที่มา : หนังสือ เอื้อ สุนทรสนาน 5 รอบ (21 มกราคม 2514)

ในวง " สุนทราภรณ์ " ทุกวันนี้ ผมอายุมากที่สุด เพราะขณะนี้ผมอายุ 68 ปี … (พ.ศ.๒๕๑๔)
ใน ระยะเวลาอันยาวนานของชีวิตดนตรี มันเป็นระยะเวลาที่ผมกับคุณเอื้อ สุนทรสนาน ได้ร่วมวงกันมากที่สุด แทบจะเรียกได้ว่า เราบรรเลงเพลงด้วยกันตลอดมา ผมฝึกวิชาดนตรีกับ พ.ต. อั้น ดีวิมล ตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ หลังจากนั้นได้เข้าประจำวงดนตรีกองเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ จนกระทั่งวันสำคัญมาถึง
วันนั้น...
ไม่ว่าผมหรือคุณเอื้อ สุนทรสนาน หรือใครๆ ที่ร่วมวงด้วยกัน มีความคิดเช่นเดียวกันที่จะมาอยู่วงใหม่จากความอุปถัมภ์ของ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ มันเป็นวันประวัติศาสตร์ของผม ของคุณเอื้อ และสำคัญที่สุดก็คือวันประวัติศาสตร์ของดนตรี " สุนทราภรณ์ " เรายกพวกกันมาตั้งวง โดยยกให้คุณเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้า พวกเราผนึกกำลังกันแบบสามัคคีปรองดอง มีเรื่องอะไรก็ถ้อยทีถ้อยปรึกษากัน
คุณ เอื้อ สุนทรสนาน ไม่ได้คิดตั้งตัวเป็นนายพวกเราให้สมกับที่ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าวง แต่ปกครองพวกเราอย่างพี่อย่างน้อง และก็คงเพราะอัจฉริยะและวิธีการปกครองเช่นนี้ จึงทำให้ดนตรีวงนี้เจริญยั่งยืนมาด้วยระยะเวลาอันยาวนานถึง 30 ปีเศษ
ใน ความยั่งยืนของวงดนตรี และในความยั่งยืนแข็งแรงสำหรับวัย 60 ของคุณเอื้อ สุนทรสนาน ในวันนี้ ผมขออำนาจคุณพระรัตนตรัยจงคุ้มครองให้ดนตรีวงนี้และหัวหน้าวง เอื้อ สุนทรสนาน จงมีอายุยืนนาน เพื่อที่จะให้ได้รับใช้ชาติ รับใช้ประชาชนต่อไปให้นานแสนนาน


บทเพลงสุนทราภรณ์ ไพเราะตรงไหน
4 สิงหาคม 2527 ผมเดินเข้าสู่ธนาคารออมสินสาขาสี่แยกคอกวัวในตอนสายๆ เพื่อส่งเพลงเข้าประกวดในโอกาสเฉลิมฉลอง 72 ปี การก่อตั้งธนาคารออมสิน เจ้าหน้าที่บอกให้ผมขึ้นไปส่งที่ชั้นสองกับ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ฯ พอพบ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ฯ ผมจำได้ว่าท่านคือ คุณปฐมทัศน์ สัชฌุกร ที่เมื่อ พ.ศ. 2520 ท่านไปช่วยเล่นดนตรีในงานสมรสธิดาเพื่อนรักของท่านท่านที่โคราช คุณวิเชียร บุนนาค ผู้จัดการออมสินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

งานสมรสครั้งนั้นจัด ที่ โคราชโฮเตล คุณปฐมทัศน์ นี้ผมรู้กิตติศัพท์ท่านมาก่อนว่าท่านเป็น “ยอดนักแอคคอเดียน ประจำวงดนตรีธนาคารออมสิน” แต่เพิ่งประจักษ์สายตาอย่างแท้จริงก็คืนนั้นที่โคราชโฮเตล ฝีมือแอคคอเดียนของท่านพลิ้วจริงๆ มือขวาไล่ไปตามคีย์บอร์ดขึ้นลงอย่างแม่นยำ สำเนียงที่ออกมาเข้ากับอารมณ์เพลงอย่างแนบเนียน มือซ้ายกดปุ่มเบสที่มีนับไม่ถ้วน อย่างแม่นยำแม่นจังหวะ คืนนั้นได้แต่ชื่นชมท่านอยู่ห่างๆ

4 สิงหาคม 2527 เมื่อมีโอกาสพบท่าน ผมจึงหาทางที่จะคุยกับท่านให้มากที่สุด มีผู้นำผมไปพบท่าน ท่านรับไหว้ ยิ้มอย่างมีเมตตา รับงานผมไปพิจารณา เขียนใบรับงานให้ไว้เป็นหลักฐาน
เสร็จสรรพจากเรื่องงานท่านก็ชวนคุย สอบถามถึงสถานะภาพทางดนตรี ผมก็บอกไป ท่านก็บอกว่า “พี่นอกจากทำงานในหน้าที่ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ธนาคารออมสินแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่ หัวหน้าวงดนตรีธนาคารออมสินด้วย” เมื่อรู้ว่าผมเรียนมาทาง “Jazz Band” ท่านก็เล่าถึง วงดนตรีแจ๊สฝรั่ง ให้ฟัง แล้วก็เล่าถึง วงดนตรีแเจ๊สเมืองไทย อย่างออกรส ทำให้ผมได้ความรู้มากมายในวันนั้น เมื่อมาถึง วงดนตรีสุนทราภรณ์ แทนที่จะเล่าให้ฟังเหมือนวงดนตรีอื่นๆ ท่านกลับตั้งคำถามว่า “น้องชอบฟังเพลงสุนทราภรณ์ไหม”
“ชอบครับ” ผมตอบ
“น้องว่า เพลงสุนทราภรณ์ เพราะตรงไหน” ท่านถาม ผมได้แต่ยิ้ม คนมีความรู้ทางดนตรีแค่หางอึ่งอย่างผมจะมีปัญญาไปวิเคราะห์อะไรได้
“น้องเชื่อไหม ว่าพี่ชอบเพลงสุนทราภรณ์ที่สุด” ผมได้แต่ทำตาปริบๆ
ไม่ อยากจะเชื่อว่า “นักดนตรีใหญ่ที่อยู่ต่างวงจะชื่นชมกันอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่แล้ว มักชื่นชมกันแต่ต่อหน้า แล้วจะดูถูกทับถมกันลับหลัง” เหมือนท่านจะอ่านใจผมออก
จึงพูดต่อไปว่า
“พี่พูดด้วยใจจริงนะ ในวงดนตรีของทางราชการทั้งหมดนี่ ทุกวงก็มีเครื่องดนตรีในจำนวนและคุณภาพที่ไม่ต่างกัน มีนักดนตรีเก่งๆไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน แต่ทำไมไม่มีวงใดมีชื่อเสียงเทียบเท่าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยที่ครู เอื้อคุมวงอยู่” (ครูเอื้อ ก่อตั้งวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ - สุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2482 ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2524) แล้วท่านก็แจกแจงให้ฟังว่า
“ด้าน ทำนอง ไม่ต้องพูดถึง ครูเอื้อท่านมีอัจฉริยะเรื่องการเขียนทำนองอย่างยากจะหาใครเทียบได้” (คุณถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์ แห่ง สมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ระบุใน “หนังสือครูเพลง” ว่า ครูเอื้อแต่งทำนองเพลงให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ประมาณ 2 พันเพลง) เมื่อเห็นผมนั่งฟังตาแป๋วพยักหน้าหงึกๆ จึงพูดต่อไปว่า
“นอก จากนี้ ครูเอื้อท่านยังโชคดี ได้นักเขียนทำนองชั้นยอดที่มีลีลาต่างกันมาเสริมทีม เช่น ทำนองเพลงสนุกๆ จาก ครูธนิต ผลประเสริฐ (สุขกันเถอะเรา ดาวล้อมเดือน จุดไต้ตำตอ ช่าช่าช่าพาเพลิน ลืมไม่ลง รำวงสาวบ้านแต้ รำวงมาลัยรจนา ฯลฯ) ทำนองเพลงเศร้าๆ จาก ครูสริ ยงยุทธ (กำศรวลรัก ตกดึกนึกเศร้า ชั่วคืนเดียว ฯลฯ) ทำนองเพลงที่สง่างาม จาก ครูเวส สุนทรจามร (หงส์เหิน ริมฝั่งน้ำ บุพเพสันนิวาส น้ำตาลใกล้มด นางในฝัน ฯลฯ) ทำนองเพลงหวานๆ จาก ครูสมศักดิ์ เทพานนท์ (รักเธอเสมอ ฯลฯ) ทำนองเพลงชมธรรมชาติ จาก ครูสมพงษ์ ทิพยกลิน (ดอกพุดตาน ท่องทะเลทอง ใต้แสงจันทร์ ฯลฯ)
นักแต่งเพลงกิตติมศักดิ์ ที่มาช่วยเสริมด้านทำนอง ก็มี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ผู้ร่วมก่อตั้งวง - เกาะสวาท เมื่อไหร่จะให้พบ ไม่อยากจากเธอ รักไม่ลืม สิ้นรักสิ้นสุข ชายไร้เชิง คนึงครวญ) ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (แต่งได้ทั้งทำนองและคำร้อง - ฝากรัก เสี่ยงรัก เพ้อรัก จากรัก ห่วงรัก รำวงชาวทะเล ชะตาฟ้า เธอนะเธอ สาวงาม นางกลางเมือง ขยี้ใจ ฯลฯ) พล.ท. ม.ล. ขาบ กุญชรฯ (อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ใช้นามแฝงในการแต่งเพลงว่า “อ.ป.ส.” - ข้องจิต คิดไม่ถึง คนึงฝัน พรั่นรัก) ครูพยงค์ มุกดา (ศิลปินแห่งชาติ - ฉันเป็นของเธอ ฝั่งหัวใจ)
ด้านคำร้อง แค่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คนเดียวก็เหลือกิน (กังหันต้องลม ขวัญใจจุฬา คิดถึง จังหวะชีวิต เพื่อเธอ พรานทะเล วังน้ำวน หงส์เหิน ชุดจุฬาตรีคูณ ฯลฯ) แต่ครูเอื้อท่านโชคดี ได้มือเขียนคำร้องระดับครูมาช่วยอีก เช่น ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ (กุหลาบดำ ลาทีปากน้ำ พัทยาลาก่อน ฟ้าแดง ฟลอร์เฟื่องฟ้า เริงลีลาศ หิมพานต์ ตาอินกะตานา ฯลฯ) ครูสุรัฐ พุกกะเวส (พระเจ้าทั้งห้า อุษาสวาท ปทุมมาลย์ น้ำตาลใกล้มด งอนแต่งาม สุดสงวน ฯลฯ) ครูธาตรี (กุญแจใจ เสียดายเดือน สมมติว่าเขารัก ร้ายกว่าผี มั่นใจไม่รัก ตัดสวาท เพื่อคุณ ขยี้ใจ รักวันเติมวัน ลาภูพิงค์ ใกล้มือคว้า ฯลฯ) ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ (ถึงเธอ รักบังใบ หนึ่งในดวงใจ ข้องจิต ขอเป็นจันทร์ จนนาง รักเอาบุญ ฝากลมวอน ดอกพุดตาน สำคัญที่ใจ ฯลฯ) ครูพรพิรุณ (ขอให้เหมือนเดิม กว่าจะรักกันได้ ฝนเอย ใจชายใจหญิง ฉันยังคอย อาลัยปีเก่า ฯลฯ) ครูสวัสดิ์ ธงศรีเจริญ (ฝากหมอน คมตา คมปาก สูญถิ่นสิ้นไทย ฯลฯ) ทวีปวร (นิมิตสวรรค์ ศกุนดลา มนต์รักนวลจันทร์ โดมในดวงใจ ธรรมศาสตร์เกรียงไกร โดมร่มใจ ฯลฯ) ยังมีอีกมากมาย เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวน้องจะเบื่อ” ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่า
“ผมน่ะฟังเรื่องของสุ นทราภรณ์ไม่มีวันเบื่อหรอกครับแต่ที่ไม่ขอให้พี่เล่าต่อเพราะกลัวพี่จะ เหนื่อยต่างหาก” แล้ว พี่ปฐมทัศน์ ก็กล่าวชื่นชม การเรียงเสียงประสาน ในวงดนตรีสุนทราภรณ์
โดยเฉพาะฝีมือของ คุณคีติ คีตากร (บิลลี่ ชาวฟิลิปปินส์) ครูเพิ่ม คล้ายบรรเลง คุณวัฒนา ชื่นสุวรรณ และ คุณชะอุ่ม สาณะเสน แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า
“น้องสังเกตไหม ดนตรีต้นเพลง (Introduction) และ ดนตรีจบเพลง (Ending) ของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มีความไพเราะทุกเพลง ไม่มีเพลงไหนที่ไม่เพราะ”
“อืมมมมม.....” ผมครางในลำคออย่างเห็นด้วย
“ส่วนนักร้องไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่คนฟังพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว”
ผมพยักหน้าน้อยๆ มองสบตาท่านอย่างเห็นด้วย แล้วท่านก็สรุปว่า
“ด้วย ตนตรีที่สมบูรณ์แบบ บวกกับ การถ่ายทอดอันยอดเยี่ยมของนักร้องบวกกับ ความพิถีพิถันของครูเอื้อ จึงทำให้บทเพลงสุนทราภรณ์มีชีวิตมีวิญญาณ
ใครได้ฟังจึงเกิดการซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณทีละเล็กทีละน้อย จนฝังจิตติดแน่นยากจะทอดทิ้งลืมเลือน”
ถึงตรงนี้ท่านเหลือบมองนาฬิกาที่ฝาผนัง แล้วพูดกับผมว่า
“อ้าว เกือบเที่ยงแล้วเหรอ วันนี้พี่นัดลูกวงซ้อมที่สำนักงานใหญ่ตอนบ่ายโมง ไปนั่งฟังดนตรีออมสินสักวันซี เดี๋ยวไปกินข้าวด้วยกันที่สำนักงานใหญ่”
ผมปฏิเสธ เกรงใจด้วยท่านจะต้องไปทำงาน จึงขอบพระคุณ แล้วกราบลา

ทุกวันนี้ก็ได้แต่ระลึกถึง ไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้ ด้วยท่านไปอยู่ต่างภพแล้ว

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola