เพลงไทยสากล

มัณฑนา โมรากุล (30 มีนาคม พ.ศ. 2466 - ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพุทธศักราช 2552 อดีตนักร้องหญิงคนแรกของวงดนตรีกรมโฆษณาการและนักร้องรุ่นแรกของวงสุนทราภรณ์

มัณฑนา โมรากุล เกิดที่วังสวนสุพรรณ ที่ประทับของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร (เป็นที่ประทับตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี) เป็นบุตรีคนที่ 4 ในจำนวน 6 คนของ หลวงสิริราชทรัพย์ (ชัย โมรากุล) (2439 -2504) ข้าราชการกรมบัญชีกลาง กับ นางผัน โมรากุล (สกุลเดิม เครือสุวรรณ) ซึ่งเป็นครูละครในวังสวนสุพรรณ

ชื่อของมัณฑนานั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อเกิด เป็นเวลาที่บิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนขึ้นเป็นหลวง ท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จึงเมตตาตั้งชื่อให้ว่า "เจริญ" เพราะเกิดมาพร้อมกับความเจริญของบิดา ในช่วงหนึ่งได้มีโอกาสเล่นละครร่วมกับคณะบรรทมสินธุ์ ของ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ท่านจึงให้ชื่อสำหรับใช้เล่นละครว่า "แสงจำเริญ" ต่อมาได้ไปฝึกการขับร้องเพลงกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ ( พ.ศ. 2482 ) จึงเปลี่ยนให้ชื่อเป็น จุรี และครั้งหลังที่สุด จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น มัณฑนา ( พ.ศ. 2485 ) [1]

ได้ฝึกร้องเพลงครั้งแรก กับมิสแมคแคน ที่ในโบสถ์พระคริสต์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มหัดร้องเพลงไทยเดิมกับครูเจอ บุรานนท์ (มารดาของ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) ที่ในวังสวนสุพรรณ ภายหลังเกิดแรงบันดาลใจจากการขับร้องเพลงไทยสากลของ จำรัส สุวคนธ์ บวกกับมีความชื่นชอบในการขับร้องเพลงไทยสากลอยู่แล้ว จึงได้ฝึกหัดขับร้องเพลงไทยสากลอย่างจริงจัง จาก ครูสกนธ์ มิตรานนท์, ครูเวส สุนทรจามร และ ครูสริ ยงยุทธ รวมถึงฝึกฝนด้วยตนเองด้วย

ด้านการศึกษา ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา แต่จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะฐานะทางบ้านไม่อำนวย จึงได้แต่หัดร้องเพลงกับครูสกนธ์ มิตรานนท์ และครูพิมพ์ พวงนาค โดยเล่นละครวิทยุกับคณะจารุกนกอยู่ระยะหนึ่ง จนมีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงไทยสากลเพลงแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 กับห้าง ต. เง็กชวน คือเพลง "น้ำเหนือบ่า" แต่งโดยครูพิมพ์ พวงนาค

ต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปขับร้องเพลงในงานวันประสูติ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 มัณฑนาจึงได้รับการชักชวนจาก พันตรีวิลาส โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการในขณะนั้น ให้ไปเป็นนักร้องของวงดนตรีโฆษณาการในวันถัดมา ขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น จึงยังบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ต้องบรรจุในตำแหน่งพนักงานวิสามัญ (ลูกจ้าง) ก่อน จนมีอายุครบตามกำหนดจึงได้เลื่อนเป็นนักร้อง นับเป็นนักร้องหญิงคนแรกของวง

ในช่วงที่รับราชการในกรมโฆษณาการ มัณฑนา โมรากุล ได้ขับร้องเพลงปลุกใจ และเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงเพลงไทยสากลประเภทต่างๆไว้เป็นจำนวนมากกว่า 200 เพลง ลักษณะการร้อง เธอเป็นนักร้องหญิงคนแรก ๆ ของไทย ที่นำการใช้ลูกคอแบบตะวันตกมาใช้ร้องในเพลงไทย เพื่อช่วยการร้องให้เกิดเสียงสูง เรียกว่า " เสียงสมอง" นอกจากนี้ ยังได้รับหน้าที่โฆษกหญิงยุคต้นของกรมโฆษณาการด้วย เธออยู่กับวงดนตรีกรมโฆษณาการ และสุนทราภรณ์ 10 ปี จึงลาออกในปี พ.ศ. 2494 เพื่อสมรสกับ นายบุญยงค์ เกียรติวงศ์ มีบุตร-ธิดารวม 4 คน

ภายหลังที่ได้ลาออกจากราชการ มัณฑนา โมรากุล ได้ร่วมกับสามีทำกิจการโรงภาพยนตร์ศรีพรานนก และ สร้างภาพยนตร์ในระยะหนึ่ง ด้านการขับร้องเพลงก็ได้มาร่วมขับร้องในรายการทางโทรทัศน์เป็นครั้งคราว จนถึง พ.ศ. 2515 จึงเลิกขับร้องเพลงอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างสงบกับบุตร-ธิดา ที่บ้านย่านพุทธมณฑลสาย 2

ข้อมูลจากวิคกีพีเดีย

 

เพลงอมตะขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล ชุดที่ 1 


มัณฑนา โมรากุล ชุดที่ 2 

กลับเพลงเก่าในอดีต

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola