เพลงไทยสากล

เลิศ ประสมทรัพย์ (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 - 28 กันยายน พ.ศ. 2534) เป็นนักร้องรุ่นกลางของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ผู้มีเอกลักษณ์ในการร้องเพลงที่สนุกสนาน โดยมักจะร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ นักร้องเจ้าของฉายา "นักร้องสาวเสียงมะดันดอง" ซึ่งมีเพลงที่คุ้นหู คือ ข้างขึ้นเดือนหงาย จุดไต้ตำตอ ไพรพิศดาร หนีไม่พ้น ครูสอนรัก เป็นต้น

เลิศ ประสมทรัพย์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ที่บ้านตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ หัวมุมสะพานผ่านพิภพลีลา เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนบำรุงวิทยา ร่วมชั้นเรียนเดียวกับสุปาณี พุกสมบุญ และ สมพงษ์ ทิพยะกลิน หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย รุ่นเดียวกับ เล็ก อ่ำเที่ยงตรง และ คำรณ สัมบุญณานนท์

 เลิศ ประสมทรัพย์ ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ โดยมักจะเข้าไปประกวดตามงานวัด โดยใช้นามแฝงว่า ล.ลูกทุ่ง ซึ่งทุกเวทีที่ประกวด เลิศมักจะได้รางวัลชนะเลิศมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดประยุรวงศาวาส หรือแม้แต่วัดหัวลำโพง จนกระทั่งกรรมการได้ขอร้องให้เลิกประกวด แต่ให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดแทน ในขณะนั้นเลิศมีอายุได้ราว 17 - 18 ปี สำหรับนักร้องประกวดตามงานวัดที่ร่วมรุ่นเดียวกัน ได้แก่ ค.สำมะรงค์ (คำรณ สัมบุญณานนท์),ล.สำมะรงค์ (เล็ก อ่ำเที่ยงตรง),ต.กิ่งเพชร (ชาญ เย็นแข) ณรงค์ ณ วังน้อย (ณรงค์ ธนวังน้อย) ส่วนเพลงที่เลิศนำไปขับร้องประกวดนั้น คือ เพลง เทพบุตรในฝัน กับ เดือนตก ผลงานของครูสกนธ์ มิตรานนท์

เลิศ ประสมทรัพย์ เริ่มต้นการศึกษาด้านการดนตรีจากครูล้วน ควันธรรม ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีกรมโฆษณาการ จากการชักชวนของสมพงษ์ ทิพยะกลิน เมื่อ พ.ศ. 2483 นับว่าเป็นนักร้องชายคนที่ 3 ของวง (ต่อจากครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูล้วน ควันธรรม) แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปสมัครเป็นตำรวจรถถัง อยู่ที่วังปารุสกวัน ในช่วงนี้เอง เลิศได้เริ่มต้นการแต่งเพลง "ความหนาวที่ลพบุรี" เนื่องด้วยความประทับใจที่เคยไปประจำการที่จังหวัดลพบุรี

สิ่งที่เลิศ ประสมทรัพย์ได้จากการเข้ามาอยู่ในวงดนตรีกรมโฆษณาการในระยะแรกนั้น คือ การเป่าทรัมเป็ต และ ตีกลอง ซึ่งทำให้เลิศสามารถอ่านโน้ตสากลได้ โดยมีสมพงษ์ ทิพยะกลิน เป็นผู้สอน

ในราว พ.ศ. 2497 เลิศได้สมัครเป็นทหารอาสาในสงครามเกาหลี ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยสังกัดอยู่ใน ผ.ส. 21 ร.พัน 1 (อิสระ) หน่วยบำรุงความสุข (ดนตรี) รุ่นเดียวกับครูธนิต ผลประเสริฐ และครูใหญ่ นภายน เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน สำหรับทหารไทยคณะนี้ ได้เดินทางออกจากเมืองไทยโดยเรือ "ฟูจิกามารู" เมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 จากการไปราชการสงครามที่เกาหลีใต้ครั้งนี้ เลิศได้นำทำนองเพลงเกาหลีและญี่ปุ่นมาแต่งเป็นเพลง สาวงามในโตเกียว (โอโต๊ะมีซัง) และ ริมฝั่งน้ำแพงม้า แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแต่งเพลงของเลิศ ประสมทรัพย์

หลังจากกลับมาจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้แล้ว เลิศได้รับการบรรจุเข้าเป็นนักร้อง ในแผนกบันเทิง กรมประชาสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 โดยครั้งนี้ เลิศได้รับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ตลอดมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2527 นับเป็นเวลากว่า 30 ปี

ระหว่างที่เลิศ ประสมทรัพย์รับราชการอยู่ในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เลิศได้มีผลงานเพลงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการขับร้อง และการแต่งเพลง โดยเพลงมักจะออกมาในแนวตลก และสนุกสนาน และมักจะร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสามีภรรยากัน ไม่ว่าจะเป็นไพรพิศดาร ข้างขึ้นเดือนหงาย หนีไม่พ้น สามนัด และอีกมากมาย

เลิศ ประสมทรัพย์ มีเอกลักษณ์ในการร้องเพลงอีกอย่างหนึ่ง คือ การร้องเพลงในจังหวะตะลุงเท็มโป จนได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงตะลุง" ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตะลุงสากล ตะลุงชมดง ตะลุงอยากเป็นพระอินทร์ ตะลุงดับเพลิงรัก นอกจากนี้ ยังมีผลงานเพลงที่เป็นอมตะอีก 2 เพลง คือ "รำวงสาวบ้านแต้" และ "รำวงหนุ่มบ้านแต้" ที่ร้องนำหมู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จนได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน

เลิศ ประสมทรัพย์ร้องเพลงมาตลอดจนกระทั่งเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น หลังเกษียณอายุราชการ เลิศเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จนกระทั่งตอนหลังเลิศจึงเลิกร้องเพลงไปเองจนถึงแก่กรรม

 เลิศ ประสมทรัพย์ พบรักกับ ม.ล.ปราลี มาลากุล ธิดา พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวาธิราช ป.มาลากุล) อดีตสมุหพระราชพิธีและที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง โดยได้พบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2499 ในงานวันเกิดหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งในวันนั้น วงดนตรีสุนทราภรณ์ยกวงไปแสดงในงานด้วย แต่ความรักของเลิศก็ไม่ประสบความสมหวังในครั้งแรก เนื่องด้วยทางฝ่ายบิดาของ ม.ล.ปราลี ไม่ยินยอมให้สมรสกับเลิศ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 16 ปี ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ได้มีพิธีหมั้นที่บ้านราชเทวีของฝ่ายเจ้าสาว โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับคุณหญิงเทวาธิราช และได้มีการจัดฉลองมงคลสมรสเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ณ สโมสรกรมชลประทาน สามเสน โดยมี พลเอกกฤช ปุณณกันต์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น เป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย และ ม.ล.ปิลันธ์ มาลากุล รองอธิบดีกรมชลประทานขณะนั้น (พี่ชาย ม.ล.ปราลี) เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง โดยในงานวันนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แต่งเพลง วันมงคลสมรส เลิศ-ปราลีให้เป็นของขวัญ โดยมีเนื้อร้องว่า [2]

"สิบสองพฤศจิกสองห้าหนึ่งห้า วันมหาทักษารักสมัครสมาน ปราลีบวกเลิศประเสริฐนาน ร่วมสมการงานรักสมัครใจ เพราะเลิศมีอะไรดีที่เป็นเลิศ ปราลีจึงบังเกิดความรักใคร่ ปราลีมีความสูงจูงจิตใจ เลิศจึงได้เอื้อมคว้ามาเชยชม ขออวยชัยให้ทั้งสองครองรักมั่น แนบสัมพันธ์นิรทุกข์เป็นสุขสม มีแต่รักรักกันมั่นนิยม ให้ชื่นชมสมสุขทุกกาลเอย"

เลิศ และ ม.ล.ปราลี ประสมทรัพย์ มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ วาทิต ประสมทรัพย์ ปัจจุบันสมรสกับ นางวริศรา ประสมทรัพย์ ยังไม่มีบุตร - ธิดา

 

 

 กลับเพลงเก่าในอดีต

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola